คำในภาษาไทย
คำในภาษาไทย
 มี ๗ ชนิด ดังนี้

๑.  คำนาม คือ คำที่ใช้เรียกชื่อ บุคคล สัตว์ สิ่งของ สถานที่
คำนาม แบ่งออกเป็น ๕ ชนิด ดังนี้
     ๑.๑  นามทั่วไป หรือสามานยนาม เป็นคำนามที่ไม่ชี้เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น คน นักเรียน บุรุษไปรษณีย์ กีฬา
     ๑.๒  นามชื่อเฉพาะ หรือวิสามานยนาม เป็นชื่อเฉพาะของบุคคล หรือสถานที่ เช่น สมศักดิ์ สุดา มีนบุรี ฉะเชิงเทรา
     ๑.๓  นามบอกลักษณะ หรือลักษณนาม เป็นคำนามบอกลักษณะ เช่น ผล ตัว อัน แท่ง ใบ
     ๑.๔  นามบอกหมวดหมู่ หรือสมุหนาม เป็นคำนามบอกหมวดหมู่ เช่น โขลง ฝูง หมู่ เหล่า
     ๑.๕  นามบอกอาการ หรืออารการนาม เป็นคำที่เกิดจากคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ที่มีคำว่า การ หรือ ความนำหน้า เช่น การวิ่ง ความดี ความจริง








๒.  คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้เเทนคำนาม เพื่อไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำๆ
คำสรรพนาม แบ่งออกเป็น ๗ ชนิด ดังนี้
๒.๑  บุรุษสรรพนาม เป็นสรรพนามที่ใช้เเทนนาม มี ๓ ชนิด ดังนี้
        สรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้เรียกแทนผู้พูด เช่น ข้าพเจ้า ฉัน ดิฉัน ผม
        สรรพนามบุรุษที่ ๒ ใช้เรียกแทนผู้ฟัง เช่น เธอ ท่าน คุณ
        สรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้เรียกเเทนผู้ถูกกล่าวถึง เช่น มัน เขา ท่าน
๒.๒ สรรพนามชี้ระยะ เป็ฯสรรพนามที่กำหนดให้เรารู้ว่า คน สัตว์ สิ่งของ หรือ สถานที่ที่กล่าวถึงนั้นอยู่ในระยะใกล้ไกลเพียงใด เช่น
        นี่ ใช้กับ สิ่งที่อยู่ใกล้ที่สุด
        นั่น ใช้กับ สิ่งที่อยู่ไกลหรือห่าวออกไป
๒.๓  สรรพนามใช้ถาม ใช้เเทนคำนามที่ผู้ถามต้งอการคำตอบ ได้แก่ อันไหน สิ่งใด ใคร อะไร เช่น
        เธอชอบอันไหน        คุณเลือกสิ่งใดในตู้นี้
๒.๔  สรรพนามบอกความไม่เจาะจง ใช้เเทนคำนามที่กล่าวถึง โดยไม่ต้องการคำตอบ ได้แก่ ใคร อะไร สิ่งใด หรืออาจจะใช้คำซ้ำ เช่น
        ฉันไม่เห็นใครขยันอย่างเขา
        รู้สิ่งใดหรือจะสู้รู้วิชา
๒.๕  สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ ใช้เเทนคำนามที่กล่าวมาก่อนเเล้ว และต้องการกล่าวซ้ำอีกโดยไม่ต้องเอ่ยคำนามนั้นอีกครั้ง ได้แก่ บ้าง ต่าง กัน เช่น
        ประชาชนต่างไปลงคะเเนนเสียงเลือกผู้เเทนราษฎร (ความหมายแยกแต่ทำในสิ่งเดียวกัน)
๒.๖  สรรพนามเชื่อมประโยค ใช้เเทนคำนามที่อยู่ข้างหน้า และเมื่อต้องการกล่าวซ้ำ ทำหน้าที่เชื่อประโยค ๒ ประโยค เข้าด้วยกัน ได้แก่ ที่ ซึ่ง อัน ผู้ เช่น
        คนที่เดินมาเป็นน้องชั้น
        เมื่อเเยกประโยคจะได้ ดังนี้ คนเดินมา และ น้องฉัน ส่วนคำว่า ที่ เเทนคำว่า คน
๒.๗  สรรพนามใช้เน้นนามตามความรู้สึกของผู้พูด ใช้หลังคำนามเพื่อบอกความรู้สึกที่มีต่อบุคคลที่กล่าวถึง เช่น
        เด็กๆ แกหัวเราะเสียงดัง (บอกความรู้สึกเอ็นดู)
        คุณแอมเธอดีกับทุกคน (บอกความรู้สึกยกย่อง)






๓.  คำกริยา คือ คำที่แสดงอาการ หรือสภาพ หรือการกระทำในประโยค บางคำมีความหมายสมบูรณ์ แต่บางคำต้องอาศัยคำอื่นมาประกอบ หรือใช้คำประกอบคำอื่นเพื่อให้ความหมายชัดขึ้น
คำกริยา แบ่งออกเป็น ๕ ชนิด ดังนี้
๓.๑  กริยาที่มีความหมายสมบูรณ์ เรียกว่า “อกรรมกริยา” เช่น เดิน วิ่ง ร้องไห้
๓.๒  กริยาที่ต้องอาสัยกรรมมาทำให้สมบูรณ์ เรียกว่า “สกรรมกริยา” เช่น ทำ ซื้อ กิน
๓.๓  กริยาที่ช่วยให้กริยาอื่น มีความหมายชัดเจนขึ้น เรียกว่า “กริยานุเคราะห์” เช่น คง จะ น่า แล้ว อาจ นะ ต้อง
๓.๔  กริยาที่ต้องอาศัยส่วนเติมเต็มเพื่อให้มีความหมายสมบูรณ์ ส่วนเติมเต็มนี้ไม่ใช้กรรม คำกริยาดังกล่าว ได้แก่ เป็น เหมือน คล้าย เท่า คือ
๓.๕  กริยาที่ทำหน้าที่คล้ายนาม อาจเป็นประธาน กรรม หรือบทขยายประโยค คำกริยาชนิดนี้มักจะมีคำว่า “การ” เช่น พูด อย่างเดียวไม่ทำให้งานสำเร็จหรอก

๔. คำวิเศษณ์ คือ คำที่ช่วยขยายคำอื่น ให้มีเนื้อความชัดเจนยิ่งขึ้น
หน้าที่ของคำวิเศษณ์ มีดังนี้
๔.๑  ประกอบคำนาม เช่น คนงาม ชายหนุ่ม มะพร้าวอ่อน ผ้าบาง
๔.๒  ประกอบคำสรรพนาม เช่น เขาสูง เธอสวย มันดุ
๔.๓  ประกอบคำกริยา เช่น วิ่งเร็ว อยู่ไกล นอนมาก
๔.๔  ประกอบคำวิเศษณ์ เช่น อากาศร้อนมาก เธอดื่มน้ำเย็นจัด

๕. คำบุพบท คือ คำที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคำหนึ่ง หรือกลุ่มคำหนึ่งให้สัมพันธ์กับคำอื่นหรือกลุ่มคำอื่น เพื่อบอกสถานที่ เวลา แสดงอาการ หรือเเสดงความเป็นเจ้าของ เช่น คำว่า กับ แก่ แต่ ต่อ จาก เพื่อ โดย จน บน ใต้ กลาง ของ สำหรับ ระหว่าง เฉพาะ เช่น
      เเม่ทำเพื่อลูก              “เพื่อ”    เป็นบุพบทเเสดงอาการ
      เขามาเมื่อเช้านี้           “เมื่อ”    เป็นบุพบทนอกเวลา
      ลูกชายนั่งอยู่ข้างพ่อ    “ข้าง”   เป็นบุพบทบอกสถานที่
      ฉันเดินกับเขา               “กับ”    เป็นบุพบทบอกความเกี่ยวเนื่องกัน

๖.  คำสันธาน คือ คำที่ใช้เชื่อมประโยคกับประโยค ข้อความที่มีคำสันธานเชื่อมอยู่นั้นมักจะเเยกออกได้เป็นประโยคมากกว่าหนึ่งประโยค เช่น
        เเม่เต่าเดินเร็วแต่ลูกเต่าเดินช้า
        ติ๊กและต๊อกเป็นเด็กมีน้ำใจ
        ครูให้อภัยเขาเพราะเขาสำนึกผิด
        บ้านเเละโรงเรียนควรร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องเด็ก

๗.  คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อเเสดงอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้พูด ส่วนมากจะไม่มีความหมายตรงตามถ้อยคำ แต่จะมีความหมายทางการเน้นความรู้สึกและอารมณ์ของผู้พูดเป็นสำคัญ
คำอุทาน แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ
๗.๑  คำอุทานบอกอาการ ใช้บอกอาการในการพูดจากัน เช่น
       โธ่! ไม่น่าเลย                                     โอ๊ย! น่ากลัวจริง
       เอ๊ะ! ทำอย่างนี้ได้อย่างไร                 ตายแล้ว! ทำไมเป็นอย่างนี้
คำอุทานบอกอาการจะมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ ( ! ) กำกับอยู่ คำอุทานบอกอาการนี้ จะพูดออกมาเพื่อเเสดงอารมณ์ของผู้พูด เช่น ดีใจ เสียใจ ตกใจ แปลกใจ ฯลฯ
๗.๒  คำอุทานในบทร้อยกรอง คำอุทานเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในบทร้อยกรอง เช่น อ้า โอ้ เอย เอ๋ย เฮย แล แฮ นา นอ ฯลฯ  ใช้เเทรกลงในถ้อยคำเพื่อความสละสลวย เช่น
                            โอ้ดวงเดือนก่ำฟ้า                     ชวนฝัน ยิ่งเอย
                   ในพฤกษ์จับเเสงจันทร์                      ป่ากว้าง
                   หมู่เเมลงเพรียกหากัน                        ดุจเพื่อน รักนา
                   ป่าปลอบผู้อ้างว้าง                            ปลดเศร้าอุราหมอง
                                                                                  จตุภูมิ วงษ์แก้ว
๗.๓ อุทานเสริมบท ใช้กล่าวเป็นการเสริมคำในการพูดเพื่อเน้นความหมายให้ชัดเจนขึ้น ทำให้สนุกในการออกเสียงให้น่าฟังขึ้น เช่น
      เธอไม่สบายต้องกินหยูกกินยานะ
      ช่วยหยิบถ้วยโถโอชามให้ด้วย
      เข้ามาดื่มน้ำดื่มท่าเสียก่อน
      ทำไมบ้านช่องถึงสกปรกอย่างนี้

แหล่งอ้างอิง